How to win at checker (every time) – โชคชะตา และ จุดเริ่มของคอรัปชั่น

HowToWinAtCheckers660v2

How to win at checker (every time) / Josh Kim / Thailand / 2015

หนังไทยเรื่องนี่เป็นหนังไทยในรอบหลายๆปีที่พูดถึงรากฐานหรือน่าจะกล่าวได้ว่าหนังนั้นพาเราไปสำรวจความเป็นไปของจุดเริ่มและ/หรือพื้นฐานของการคอรัปชั่น(ในที่นี้พูดถึงเฉพาะในประเทศไทย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ Universal พอสมควร) ซึ่งหนังไทยหลายเรื่องที่พูดถึงปัญหาคอรัปชั่นส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยลงรายละเอียดหรือพาคนดูไปสำรวจลึกมากนัก โดยมากก็จะ Judge ไปเลยว่า นักการเมืองเลว เจ้าหน้าที่รัฐเลว คนต่างจังหวัดโง่ที่ยอมขายเสียง ฯลฯ แต่หนังเรื่องนี้พูดอย่างง่ายๆและเคลียร์มากๆ ซึ่งวิธีการของหนังนั้นก็พาเราเข้าไปสำรวจชีวิตของคนที่เกิดมาสิ้นไร้ไม้ตรอกมากๆอย่าง”เอก” ตัวละครหลักที่เป็นพี่ชายคนเดียวในครอบครัวที่เสียทั้งพ่อและแม้ไป และต้องทำงานขายตัวในบาร์

หนังพูดถึงชีวิตที่เรียบง่ายของครอบครัวๆหนึ่งที่ฐานะไม่ค่อยจะดีนักเพราะเสียบุพการีทั้งสองไป “เอก” พี่ชายคนโตของครอบครัวต้องช่วยป้าดูแลน้องอีกสองคน จนวันหนึ่งมีหมายเรียก”เอก”ไปเกณฑ์ทหาร ซึ่งเขาต้องไปจับใบดำใบแดง นี่คือจุดพลิกพลันที่ทำให้เราเห็นชีวิตของคนๆหนึ่ง(และอาจจะทั้งครอบครัว) ล้มระเนระนาดเป็นเหมือนโดมิโน่ เพียงเพราะระบบการเกณฑ์ทหารแบบเสี่ยงโชค

เนื่องจากเหตุการณ์หลักของหนังคือการจับใบดำใบแดงเพื่อเกณฑ์ทหารนั้น เรากลับเห็นสิ่งต่างๆที่สะท้อนถึงสังคมไทยผ่านตัวหนังนั้นก็คือ การเชื่อเรื่องโชคลางของคนไทย เมื่อคนเราไร้ที่พึ่งนั้นเราก็ไม่รู้จะบ่ายหน้าไปหาอะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวเอาไว้ ป้าของเอกเป็นตัวอย่างคนรุ่นหนึ่งในสังคมไทย คือการนับถือโชคลาง เธอเชื่อว่าถ้าหลานชายตัวเองกราบพระทำบุญหรือถือเคล็ดตามที่แกแนะนำมันจะเป็นการดีที่จะนำสิ่งที่ดีและเป็นที่ต้องการของเรามาสู่ชีวิต และป้าก็หวังว่าหลานของตนจะจับได้ใบดำเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเกณฑ์ไปเป็นทหาร เพราะป้าคงเลี้ยงหลานอีกสองคนไม่ไหว(ด้วยฐานะทางการเงินที่ไม่ดี) อีกประเด็นที่น่าสนใจและน่าพูดถึงก็คือคู่ขนานอีกด้านที่มีการเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจนคือตัวละครที่เป็นแฟนของ”เอก” นั้นก็คือ “ใจ๋” แฟนหนุ่มที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นชนชั้นกลางในสังคมไทยอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอยู่กันคนละขั้วกับ”เอก” ทั้งคู่เป็นแฟนกันและรักกันอย่างแน่นอน(หนังทำให้รู้สึกเช่นนั้น) เรากลับมองว่า”ใจ๋”เป็นตัวละครที่น่าสนใจ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม “ใจ๋” เหมือนเป็นภาพแทนกลุ่มๆหนึ่งของสังคมอย่างชัดเจนนั้นคือ”ชนชั้นกลาง” (Bourgeosie) ครอบครัว”ใจ๋”สามารถติดสินบนมาเฟียท้องถิ่นเพื่อไม่ให้ลูกของตัวเองต้องเป็นทหารและมันเป็นอย่างนั้นจริงจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่ได้พบเจอมา  แต่กลับกันกับครอบครัวของ”เอก” ที่ไม่มีอำนาจและกำลังทรัพย์ที่จะไปติดสินบนผู้มีอำนาจที่ไหน จนสุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเขาต้องเดินไปตามโชคชะตาของตนเอง

แม้ชะตากรรมของ”เอก”จะดูไม่อำนวยสวยหรูเลย แต่มีหลายอย่างที่เขาทิ้งคำพูดหรือตัวตนที่เขาแสดงออกมาทำให้คนดูต้องคบคิดและผู้เขียนขอยกย่องตัวละครที่ไร้ซึ่งอำนาจต่อรองกับอำนาจหลักของสังคมที่เหลวแฟะคนนี้ เช่นฉากที่น้องเขาพยายามขโมยเงินแล้วจะเอาไปติดสินบนมาเฟียท้องถิ่นเพื่อให้ช่วยพี่เขาไม่ต้องจับได้ใบแดง “เอก”กลับยอมรับและเอาเงินไปคืน และอีกเหตุการณ์ที่เราคิดว่าดีมากก็คือ “ใจ๋” แฟนของ”เอก” รับปากว่าถ้าเอกจับได้ใบแดงเขาจะดูแลน้องชายแทนเอกเอง แต่เอกกลับปฎิเสธและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไป เพราะ”ใจ๋”นั้นรู้ทั้งรู้อยู่แล้วว่าตัวเองจะจับได้ใบดำส่วน”เอก”นั้นต้องไปลุ้นกับโชคชะตาของตนเอง ซึ่งความรู้สึกส่วนตัวของผู้เขียนนั้นนี่คือ”อาการรู้สึกผิดของชนชั้นกลาง” ที่ตัวเองนั้นรู้อยู่แล้วว่าตัวเองเอาตัวรอดด้วยการติดสินบน หากเราเปรียบ”เอก”เป็นตัวละครในวรรณกรรมไทยก็อาจจะเปรียบได้กับ “ขวัญ” ใน “แผลเก่า”

 

1 comment
  1. เดี๋ยวจะหาโอกาสไปดูแน่นอนครับ

Leave a comment